5 เรื่องหัวร้อนที่คนเกรี้ยวกราดไม่ควรทำขณะใช้มือถือ

nowmobilemarketing.com  > สาระน่ารู้ >  5 เรื่องหัวร้อนที่คนเกรี้ยวกราดไม่ควรทำขณะใช้มือถือ

5 เรื่องหัวร้อนที่คนเกรี้ยวกราดไม่ควรทำขณะใช้มือถือ

ยุคสมัยนี้การสื่อสารช่างไปไกลและรวดเร็ว เรื่องราวที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกถึงหูผู้คนที่อยู่ไกลกันผ่านโทรศัพท์เพียงไม่กี่วินาที ความบันเทิงต่าง ๆ ก็เช่นกัน เพียงหยิบมือถือขึ้นมาเราก็สามารถโลดแล่นไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ใช่ว่าทุกอย่างที่มาพร้อมความรวดเร็วง่ายดายจะดีเสมอไป อย่างช่วงที่มีข่าวอันทำให้ผู้คนเอาแต่ติดตามเฝ้าดูแทบทุกวินาทีมันส่งผลต่อสภาพจิตใจ และคนไทยป่วยจากโรคที่มาพร้อมกับภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอารมณ์ร้อนที่ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้เมื่อใช้มือถือ

ทะเลาะกัน ไม่ว่าจะเป็นการแชท คุยโทรศัพท์ถ้าเพียงรู้ว่าถ้าพูด หรือฟังอีกฝ่ายพูดต่อไปจะเป็นการเพิ่มรอยร้าว ไปถึงจุดแตกหัก ก็ควรหยุด หันไปทำอย่างอื่นให้อารมณ์เย็นลง ยิ่งถ้าอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงเช่นขับรถอยู่ด้วยก็ไม่ควรเพิ่มดีกรีความร้อนแรงทางด้านอารมณ์ เพราะมันหมายถึงชีวิตของอีกฝ่ายนั่นเอง

เล่นเกม การเล่นเกมถือเป็นหนึ่งในเรื่องหัวร้อนที่ทำให้ผู้คนต้องเปลี่ยนมือถือกันบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับควบคุมที่ไม่ได้ดังใจ การเสียหายของไอเท็ม และที่หนักสุดคือการสุ่มไอเท็มที่มักจะเจอแต่ของห่วย ๆ หรือที่ภาษาเกมเมอร์เรียกประชดประชันค่ายเกมว่า “เกลือ” นั่นเอง แต่ทางออกไม่ใช่การแนะนำให้งดเล่นเกมไปเลยอาการหัวร้อนนี้แก้ได้ด้วยการเปลี่ยนความคิด ไม่คาดหวังอะไรและนึกเอาเสียว่าความโชคดีจากการสุ่มนั้นเป็นโอกาสพิเศษและการได้เกลือนั่นต่างหากคือเหตุการณ์ปกติ

อ่านข่าวที่มีความรุนแรง การอ่านข่าวที่มีความรุนแรง ไม่มีการเซ็นเซอร์ หรืออ่านข่าวที่มีผลกับภาวะอารมณ์เป็นเรื่องควรหลีกเลี่ยง ยิ่งการแสดงความคิดเห็นหรือโต้ตอบกันไปมาในโลกออนไลน์ด้วยถ้อยคำหยาบคายยิ่งทำให้อารมณ์ความรู้สึกมันค้างคา บางคนก็ระบายออกกับคนรอบข้างในชีวิตจริงซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง คนที่เอาแต่เสพย์ข่าวสารจำพวกนี้มีความเสี่ยงอีกอย่างคือการตกเป็นเหยื่อของเว็บคลิกเบทที่ชอบสร้างข่าวลวง ความรุนแรง หลอกคลิกทำให้โทรศัพท์ติดไวรัส ดังนั้นถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนอารมณ์ร้อนก็ควรยับยั้งชั่งใจไม่เข้าไปอ่านข่าวสารประเภทนี้และควรไตร่ตรองให้ดีก่อนเชื่อข่าวสารใด ๆ ก็ตาม

โพสต์ระบายด้วยถ้อยคำหยาบคาย ถึงจะหัวร้อนปานใดการโพสต์ระบายด้วยถ้อยคำที่ไม่น่าโสภาก็ไม่ควรทำ ยิ่งโพสต์หยาบคายเกี่ยวกับงาน เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ก็ไม่เป็นผลดี มีหลายกรณีซึ่งมีผลตามมาเช่นการถูกไล่ออกจากที่ทำงานให้เห็นอยู่บ่อย ๆ การโพสต์ด่าหยาบคายโดยระบุชื่อผู้คนก็ควรระวังเพราะอาจจะเป็นเรื่องเป็นราวฟ้องร้องเอาผิดกันได้ภายหลัง

การบูลลี่(Bully)ผู้อื่น การใช้ถ้อยคำกลั่นแกล้ง เหยียดหยาม ดูถูกผู้อื่นบนโลกออนไลน์เป็นการกระทำอันน่ารังเกียจไม่ถูกต้องทั้งในเชิงศีลธรรมและหลักมนุษยธรรม การบูลลี่ส่งผลทั้งผู้กระทำและถูกกระทำ ผู้กระทำหากทำบ่อย ๆ ก็มักจะย่ามใจและติดเป็นนิสัย ส่วนผู้ถูกกระทำมีหลายกรณีที่ทนรับการดูถูกไม่ได้ ส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าหรือให้ผลเลวร้ายกว่านั้น หากเป็นคนขี้โมโหอยู่เป็นทุนเดิมและเป็นคนบูลลี่ผู้อื่นก่อนแล้วพอถูกตอบโต้กลับก็มักจะเป็นฝ่ายทนไม่ได้ทำให้เหตุการณ์มักจะไม่จบลงด้วยดี ดังนั้นจึงควรหยุดการกระทำและตระหนักว่าถ้าไม่อยากตกเป็นฝ่ายถูกกระทำบ้างก็ไม่ควรกระทำกับใครก่อนเช่นกัน

นี่คือสิ่งที่คนอารมณ์ร้อนเกรี้ยวกราดไม่ควรปฏิบัติยามใช้งานโทรศัพท์มือถือ หากรู้สึกว่าตัวเองอารมณ์ร้อนกว่าแต่ก่อนหรือรู้สึกว่าไม่ใช่ลักษณะนิสัยดั้งเดิมของตนเอง การไปพบแพทย์เพื่อการแก้ปัญหาก็เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะอย่าลืมว่าอารมณ์ภายในก็ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายภายนอกเช่นเดียวกัน